วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552

ทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย

ใครเคยรู้บ้างว่าเด็กเริ่มเรียนรู้ทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ตั้งแต่เกิด?
นักวิทยาศาสตร์เคยศึกษาวิจัยทั้งในสัตว์ทดลองและเด็กวัยทารกเกี่ยวกับเรื่องการรับรู้ด้านจำนวน ด้วยการสังเกตเห็นว่านกจะเลือกจิกกินอาหารจากกองที่มีมากกว่า เด็กทารกสนใจจ้องมองมากขึ้นชัดเจนเมื่อจำนวนจุดขนาดใหญ่ที่รวมกลุ่มอยู่เปลี่ยนไป
นักวิจัยเชื่อว่าการรับรู้และความเข้าใจเรื่องจำนวนของเด็กทารกและสัตว์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาเบื้องต้นเพื่อการอยู่รอด และเนื่องจากสมองของมนุษย์ถูกกำหนดมาให้พร้อมต่อจากการเรียนรู้เพิ่มเติม จึงค่อยๆเรียนรู้ทักษะอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมจากสิ่งต่างๆรอบตัว อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นด้านการพูดหรือการกระทำ ผู้เลี้ยงดูเด็กจึงมักไม่สามารถสังเกตเห็นได้ว่าเด็กกำลังเรียนรู้อะไรบ้าง คนส่วนมากเข้าใจว่าเด็กเริ่มเรียนรู้และเข้าใจทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์เฉพาะเมื่อเด็กเริ่มนับ 1 2 3 ได้ ซึ่งทำได้ที่อายุประมาณ 2 ปีเป็นต้นไป
หลักการเรียนรู้ด้านการคำนวณหรือคณิตศาสตร์ในช่วงแรกของชีวิตมีองค์ประกอบต่างๆมากกว่าเพียงการนับ เช่น ขนาด ปริมาณ มิติสัมพันธ์ รูปทรง เป็นต้น ในต่างประเทศมีนักวิจัยจากหลากหลายสาขา ได้แก่ นักจิตวิทยาด้านการศึกษา แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง ให้ความสนใจปัญหาการเรียนของเด็กที่ไม่สามารถเรียนรู้ทักษะด้านคณิตศาสตร์ได้เหมือนเด็กอื่นๆในวัยเดียวกัน หรือที่เรียกว่าเป็นแอลดีด้านคณิตศาสตร์ แอลดีหมายถึง learning disability (LD) ซึ่งมีทั้งที่บกพร่องด้านการอ่าน การคำนวณ และการเขียน
ข้อค้นพบต่างๆจากงานวิจัยในเด็กกลุ่มดังกล่าวนี้ ร่วมกับการศึกษาความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กปกติ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าเด็กจะเรียนรู้คณิตศาสตร์ในช่วงอนุบาลและวัยประถมศึกษาได้ดีเป็นปกติ ต้องมีทักษะการรับรู้เรื่องจำนวนในช่วงปฐมวัยเป็นพื้นฐานมาก่อน ซึ่งไม่ใช่เพียงการนับเลขได้เก่งเท่านั้น ความสามารถทางภาษาที่พูดได้ จดจำได้ ช่วยให้เด็กจำนวนมากท่องจำการนับ 1 2 3…. ได้โดยง่าย แต่เด็กส่วนหนึ่งไม่เข้าใจว่าที่นับหมายถึงอะไร การสอนให้เด็กจดจำเพียงตัวเลข ก็ไม่สามารถช่วยให้เด็กเข้าใจเรื่องจำนวนอย่างที่ควรเป็น
จึงอาจกล่าวได้ว่ากว่าจะถึงอนุบาล ก็สายเสียแล้ว (ที่จะเรียนเลขได้เข้าใจอย่างแท้จริง)

ไม่มีความคิดเห็น: